วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติการแพทย์และเภสัชกรรมไทย

การแพทย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และใกล้ประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
ประเทศไทยมีการแพทย์สองอย่าง คือ
          ๑. การแพทย์พื้นบ้าน ชาวบ้านได้ใช้กันมาเป็นเวลานาน ขณะนี้ประชาชนจำนวนมากก็ยังใช้กันอยู่ ปัจจุบันเรียกว่า การแพทย์แผนโบราณไม่ได้ใช้ว่า "การแพทย์เดิมหรือการแพทย์พื้นบ้านของไทย"
          ๒. การแพทย์แผนปัจจุบันนำเข้ามาโดยชาวตะวันตก  เรียกกันในขณะนี้ว่า "การแพทย์แผนปัจจุบัน" การแพทย์แผนโบราณอาจเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน ขณะที่มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันรู้จักอยู่กัน เป็นหมู่เหล่า รู้จักเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ จากผลของการขุดค้นพบว่ามนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้และรวมกันเป็นหมู่ เหล่านั้น จะปรากฏเมื่อประมาณ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ร่องรอยที่เชื่อว่าอาจมีบุคคลที่ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นหมอหรือแพทย์ ก็คือ การพบสัญลักษณ์ที่อาจสันนิษฐานได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับการเจ็บป่วย คือในโครง ที่ B.๑๐ หลุม BKI ที่ขุดโดยคณะสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ ที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

          โครงนี้นอกจากจะมีเครื่องปั้นดินเผา ขวานหิน เปลือกหอยแล้ว ยังมีวัตถุอื่นที่แปลกออกไปจากโครงอื่นๆ อีก ๒  อย่าง  ชิ้นหนึ่ง เป็นแผ่นหินรูปกลม มีรูเจาะตรงกลาง ขอบค่อนข้างคม มีรอยชำรุดเล็กน้อย และมีรอยกะเทาะค่อนข้างชัดเจน ๒ รอย ผิวขัดเล็กน้อยให้เรียบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๕.๑ เซนติเมตร รูที่เจาะกว้าง ๗.๑ เซนติเมตร ขนาดของรูไม่โตพอที่จะสอดเข้าไปในแขนได้ อีกชิ้นหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขากวางข้างหนึ่ง (Cervus unicolor equinus) กิ่งแรกที่แยกออก (กิ่งรับหมา) ได้ถูกตัดออกไป ที่รอยตัดถูกทำให้เป็นรูกลวง ส่วนของเขาที่ต่อขึ้นไปถูกทำให้เกลี้ยง แล้วตัดที่ปลายกิ่งที่แยกออกไป ๒ กิ่ง ถัดเข้ามาเป็นรอยควั่น ขนานกับรอยตัดกิ่ง ทำให้เป็นรูเช่นเดียวกับกิ่งแรกขนาดยาว  ๓๒.๕  เซนติเมตร  ในรายงานสมบูรณ์ นายซอเรนเซน (Mr.Sorensen) แจ้งว่า ไม่ทราบว่าใช้สำหรับทำอะไร  แต่ในรายงานย่อยสันนิษฐานว่าโครงที่พบกับเครื่องมือดังกล่าวอาจทำหน้าที่ เป็นหมอ  และเขากวางใช้ในการพิธีรักษา 
          ต่อมาในการ ขุดค้นที่ตำบลทัพหลวง  อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เป็นโครงของสมัยทวารวดี ก็ได้พบอีกชั้นหนึ่งแต่ชำรุด  ชิ้นที่ ๓ ชาวบ้านขุดค้นได้จากหมู่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นของยุคสำริด เป็นเขาของกวางขนาดใหญ่ มีขนาดยาวเพียง ๑๕ เซนติเมตร มีรอยตัดทั้งกิ่งรับหมาและกิ่งที่ต่อขึ้นไป แต่ไม่ยาวไปถึงส่วนที่จะแบ่ง เช่นที่พบที่หมู่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี  ชิ้นที่ ๔ พบที่ ตำบลโพธิ์หัก จังหวัดราชบุรี  การพบนี้อาจจะมีคำโต้แย้ง เพราะโครงกระดูกทั้ง ๔ แห่งนี้ได้มีประเพณีนำส่วนใดส่วนหนึ่งของสัตว์ไปทำเป็นเครื่องเซ่น สัตว์ที่พบมากก็คือหมู โดยมากใช้ส่วนหัวของหมู พบได้เป็นจำนวนมากกับโครงกระดูกที่ขุดพบ แต่เขากวางเป็นของพบได้น้อย และส่วนที่เป็นเขาก็ไม่ได้ใช้เป็นอาหาร การใช้เขากวางจึงเป็นเหมือนเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นเครื่องใช้สอยถูกนำไปวางไว้เป็นเครื่องเซ่น การใช้เขากวางเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับการแพทย์  ได้พบเป็นรายงานอีกแห่งหนึ่ง คือ การเขียนรูปแพทย์ (medical man) หรือหมอผี (witch doctor) ที่ผนังของถ้ำในเทือกเขาพีรีนีส (Pyrenees) มีชื่อว่า ถ้ำเลส์  ตรัวส์  แฟรร์ (Les Trois Freres) อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ภาพที่เขียนเป็นภาพคน คลุมด้วยหนังของสัตว์ชนิดหนึ่ง  มีส่วนขาและแขนเขียนลายเป็นแถบๆ แต่ที่หัวมีเขากวางติดอยู่ ประมาณว่าเป็นภาพที่เขียนในสมัย  โอริกเนเซียน (Aurignacian) ในตอนกลางของทวีปยุโรป 
         จากข้อความดังกล่าว ประกอบกับคำอธิบายเป็นส่วนตัว จาก นายซอเรนเซน สันนิษฐานว่าเขากวางที่พบในประเทศไทยนั้น อาจใช้แต่งประกอบกับศีรษะของหมอผี หรือรูปสลักเป็นรูปคน แล้วเอาเขากวางที่ตัดตกแต่งแล้วไปประดับ ไม่ใช่เขากวาง  ทั้งชิ้นประดับเช่นในรูป 
          การพบนี้อาจมีความสำคัญเกี่ยวกับการสืบเนื่องถึงพิธีกรรม ที่อาจทำสืบต่อกันมาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยหินใหม่ที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี (ประมาณ ๔,๐๐๐ ปี) ถึงสมัยทวารวดี ที่ตำบลทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม (๑,๒๐๐ ปี) หลักฐานประการที่ ๒ ที่แสดงว่าได้มีการรักษากันจริงๆ ก็   คือ การเจาะกะโหลกให้เป็นรูทะลุ ซึ่งศัพท์แพทย์ใช้ว่า ทรีไฟนิง (trephining)  หรือ ทรีแพนนิง  (trepanning) พบที่บ้านธาตุ ใกล้บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และเป็นโครงกระดูกสมัยเดียวกัน คือ สมัยสำริด หรือสมัยโลหะ รูที่พบอยู่ทางด้านซ้ายของกะโหลกในบริเวณขมับ ซึ่งเป็นกระดูกเทมปอรัล (temporal bone) มีขนาด  ๙ x ๑๐ มิลลิเมตร อยู่สูงจากรูหู ๔๐  มิลลิเมตร การเจาะรูในกะโหลกในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้พบหลายแห่งของโลก มนุษย์สมัยหินใหม่ที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปก็ทำกัน พบได้หลายแห่ง พบมากในประเทศฝรั่งเศส  พบได้บ้างในประเทศออสเตรีย  โปแลนด์ รัสเซีย เยอรมนี  และสเปน นอกจากทวีปยุโรปยังพบในบริเวณที่เป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก พบในอเมริกาเหนือและใต้ ในแอฟริกาและเอเชีย เป็นการรักษาที่ไม่ตรงกับจุดประสงค์ของการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งจะทำการ รักษาเมื่อมีหลอดโลหิตแตกในกะโหลก หรือเจาะแล้วเปิดกะโหลกให้กว้าง เพื่อรักษาก้อนทูมหรือหลอดเลือดที่แตกลึกเข้าไปในเนื้อสมอง แต่การกระทำในสมัยก่อนประวัติศาสตร์  อาจทำเพื่อปล่อยสิ่งที่บุคคลในสมัยนั้นเชื่อว่าทำให้เกิดการปวดศีรษะอย่างแรง หรือทำให้ผู้ป่วยเป็นลมบ้าหมู
          หลักฐานเกี่ยวกับหมอผี  และการรักษาซึ่งถือเป็นการแพทย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคงพบได้เพียง ๒ อย่างตามที่กล่าว แต่โรคที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยังมีอีกหลายโรค แต่การศึกษายังไม่กว้างขวางพอที่จะกล่าวในขณะนี้ได้

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติการเต้นรำแบบบอลล์รูม‏

   “ลีลาศ” หมายถึงการเต้นเพื่อความสนุกสนานและได้พบกับบุคคลอื่นๆ ในสังคมในงานสังสรรค์ หรืองานราตรีสโมสร ลีลาศนี้ มีมานับเป็นพันๆ ปีแล้ว แต่เพิ่งมีหลักฐานแน่ชัดเมื่อประมาณ ปี ค.ศ.1400 ซึ่งได้อธิบายถึงการก้าวเดิน และดนตรีการเต้นรำแบบบอลรูม (Ballroom Dancing) เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างชาติและเผ่าพันธุ์ต่างๆ ถึงแม้ว่าชาวตะวันตกจะนิยมกันอย่างมาก แต่การเต้นรำแบบบอลรูมก็เป็นที่ยอมรับของชนทุกชาติ


    ในสมัยดึกดำบรรพ์ ชาวสปาร์ต้า จะฝึกกีฬา เช่น ชกมวย, ยิงธนู, วิ่ง, ขี่ม้า ล่าสัตว์ รวมถึงการ เต้นรำ ส่วนชาวโรมันมีการเต้นรำเพื่อแสดงความกล้าหาญ ผู้ที่มีชื่อเสียงในการเต้นตำของโรมันคือ ซีซีโร (Cicero : 106 – 43 B.C.) 
    การเต้นรำแบบบอลรูม เริ่มตั้งแต่สมัยพระนางเจ้าอลิซาเบ็ธที่ 1 ซึ่งสมัยนั้นครั่งไคล้การเต้นรำที่เรียกว่า “โวลต้า” (Volta) ซึ่งมีการจับคู่แบบวอลซ์ในปัจจุบัน การเต้นแบบโวลต้านั้นฝ่ายชายจะช่วยให้ฝ่ายหญิงกระโดดขึ้นในอากาศด้วย ซึ่งพระราชินีเอง ทรงพอพระทัยมาก
เช็คสเปียร์ (Shakespeare : 1564 – 1616) อยู่ในกรุงลอนดอนหลายปี ได้กล่าวไว้ในบทละครเรื่องพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 ว่า มีการเต้นอีกอย่างเรียกว่า “โคแรนโท หรือ โคแรนเท” (Courante) 
สมัยศตวรรษที่ 17 การเต้นรำมีแบบแผนมากขึ้น จอห์น วีเวอร์ และ จอห์น เพทฟอร์ด (John Weaver & John Playford) เป็นนักเขียนชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียง เพลฟอร์ด ได้เขียนเกี่ยวกับการเต้นรำแบบเก่าของอังกฤษ ซึ่งรวบรวมได้ถึง 900 แบบอย่าง


เต้นรำแบบบอลรูมในจังหวะวอลซ์ (Waltz) ได้เริ่มขึ้นประมาณ ค.ศ. 1800 เป็นจังหวะที่นิยมกันมากในสมัยนั้นในสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรีย (The Victorian Era : 1830 – 80) การไปงานราตรีสโมสร หนุ่มสาวจะไปเป็นคู่ๆ ต้องต่างคนต่างไป และฝ่ายชายจะขอลีลาศกับหญิงคนเดิมมากกว่า 4 ครั้ง ไม่ได้ หญิงโสดก็จะต้องมีพี่เลี้ยงไปด้วย ฝ่ายหญิงจะมีบัตรเล็กๆ สีขาว จดบันทึกไว้ว่า เพลงใดมีชายขอจองลีลาศไว้บ้างในศตวรรษที่ 20 นิโกรในอเมริกา มีบทบาทมากทางด้านดนตรี และลีลาต่างๆ ในนิวออร์ลีน มีการเล่นดนตรีแบบพื้นเมืองของอาฟริกา ตอนแรกเรียกว่าจังหว(Syncopation) มีท่วงทำนองเร้าใจ และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแจ๊ส (Jazz Age) สมัยเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 1 ใหม่ๆ ดนตรีจังหวะนี้ก็เข้ามาแพร่หลายในอังกฤษ พร้อมๆ กันนั้นก็มีจังหวะพื้นเมืองอีกจังหวะหนึ่งมาจากอเมริกาใต้ คือ จังหวะแทงโก (Tango) ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากเพลงพื้นเมืองของพวกคาวบอยในอาร์เยนตินา ยุคนั้นเรียกว่า แร็กโทม์ (Rag – Time) ซึ่งการเต้นไม่มีกฏเกณฑ์อะไร ต่อมาประมาณปี ค.ศ.1929 มีครูลีลาศในอังกฤษรวมกันเป็นคณะกรรมการปรับปรุงการลีลาสแบบบอลรูมขึ้นมาเป็นมาตรฐาน 4 จังหวะ (ถ้ารวมควิกวอลซ์ด้วยจะเป็น 5 จังหวะ) ถือว่าเป็นแบบฉบับของชาวอังกฤษ คือ วอลซ์ (Waltz) ควิกสเต็ป (Quickstep) แทงโก (Tango) และ ฟอกซ์ทรอต (Fox-trot) 
     เนื่องจากอิทธิพลของยุคแจ๊ส (Jazz Age) ก็ได้เกิดการลีลาศแบบลาตินอเมริกา ซึ่งจัดไว้เป็นมาตรฐาน 4 จังหวะ (ถ้ารวมพาโซโดเบิ้ล ก็จะเป็น 5 จังหวะ) คือ รัมบ้า (Rumba) ชา ชา ช่า (Cha – Cha – Cha) แซมบ้า (Samba) และไจว์ฟ (Jive) โดยคัดเลือกจากการลีลาศประจำชาติต่างๆ เช่น แซมบ้าจากบราซิล รัมบ้าจากคิวบา พาโซโดเบิ้ลจากสเปน และไจว์ฟจากอเมริกา


ที่มา : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=khamriang&month=12-2009&date=17&group=21&gblog=22

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

มารยาทในการเต้นลีลาศ

มารยาททางสังคมในการลีลาศ ที่ควรทราบมีดังนี้ 


การเตรียมตัว
1. อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด กำจัดกลิ่นต่าง ๆ ที่น่ารังเกียจ เช่น กลิ่นปาก กลิ่นตัว เป็นต้น
2. แต่งกายให้สะอาด ถูกต้อง และเหมาะสมตามกาละเทศะ ซึ่งจะเป็นหารสร้างความมั่นใจในบุคลิกภาพของตนเอง
3. ควรใช้เครื่องสำอางที่มีกลิ่นไม่รุนแรงจนสร้างความรำคาญให้กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือกับคู่ลีลาศของตน
4. มีการเตรียมตัวล่วงหน้าโดยการฝึกซ้อมลีลาศในจังหวะต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในการลีลาศ
5. สุภาพบุรุษจะต้องให้เกียรติสุภาพสตรีและบุคคลอื่นในทุกสถานการณ์ และจะต้องไปรับสุภาพสตรีที่ตนเชิญไปร่วมงาน
6. ไปถึงบริเวณงานให้ตรงตามเวลาที่ระบุได้ในบัตรเชิญ


ก่อนออกลีลาศ
1. พยายามทำตัวให้เป็นกันเอง และสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกับเพื่อนใหม่ แนะนำเพื่อน
หญิงของตนให้บุคคลอื่นรู้จัก (ถ้ามี)
2. ไม่ดื่มสุรามากจนครองสติไม่อยู่ ถ้ารู้สึกตัวว่าเมามาก ไม่ควรเชิญสุภาพสตรีออกลีลาศ
3. ไม่ควรเชิญสุภาพสตรีที่ไม่รู้จักออกลีลาศ ยกเว้นจะได้รับการแนะนำให้รู้จักกันเสียก่อน
4. สุภาพบุรุษควรแน่ใจว่าสุภาพสตรีที่ตนเชิญออกลีลาศ สามารถลีลาศจังหวะนั้น ๆ ได้หากไม่แน่ใจควรสอบถามก่อน
5. สุภาพบุรุษควรเชิญสุภาพสตรีออกลีลาศด้วยกริยาที่สุภาพ ถ้าถูกปฏิเสธก็ไม่ควรเซ้าซี้จนเป็นที่น่ารำคาญ
6. สุภาพสตรี ไม่ควรปฏิเสธเมื่อมีสุภาพบุรุษมาขอลีลาศด้วย หากจำเป็นจะต้องปฏิเสธด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะต้องปฏิเสธด้วยถ้อยคำที่สุภาพนุ่มนวล และไม่ควรลีลาศกับสุภาพบุรุษอื่นในจังหวะที่ตนได้ปฏิเสธไปแล้ว
7. ถ้าในกลุ่มสุภาพสตรีที่นั่งอยู่มีบุคคลอื่นหรือสุภาพบุรุษอื่นนั่งอยู่ด้วย จะต้องกล่าวคำขออนุญาตจากบุคคลเหล่านั้นก่อนที่จะเชิญสุภาพสตรีออกลีลาศ
8. ก่อนออกลีลาศควรฟังจังหวะให้ออกเสียก่อน และแน่ใจว่าสามารถลีลาศในจังหวะนั้นได้
9. ไม่ควรออกลีลาศกับคู่เพศเดียวกัน

ขณะลีลาศ
1. ขณะที่พาสุภาพตรีไปที่ฟลอร์ลีลาศ สุภาพบุรุษควรเดินนำหน้า หรือเดินเคียงคู่กันไป เพื่อให้ความสะดวกแก่สุภาพสตรี และเมื่อไปถึงฟลอร์ลีลาศ ควรให้เกียรติสุภาพสตรีเดินขึ้นไปบนฟลอร์ลีลาศก่อน
2. ในการจับคู่ สุภาพบุรุษต้องกระทำด้วยความนุ่มนวลสุภาพ และถูกต้องตามแบบแผนของการลีลาศ ไม่ควรจับคู่ในลักษณะที่รัดแน่นจนเกินไป การแสดงออกที่น่าเกลียดบางอย่างพึงละเว้น เช่น การเอารัดเอาเปรียบคู่ลีลาศ เป็นต้น
3. จะต้องลีลาศไปตามจังหวะ แบบแผน และทิศทางที่ถูกต้องไม่ย้อนแนวลีลาศ เพราะจะเป็นอุปสรรคกีดขวางการลีลาศของคู่อื่น ถ้ามีการชนกันเกิดขึ้นในขณะลีลาศ จะต้องกล่าวคำขอโทษหรือขออภัยด้วยทุกครั้ง
4. ไม่สูบบุหรี่ เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือของขบเคี้ยวใด ๆ ในขณะลีลาศ
5. ให้ความสนใจกับคู่ลีลาศของตน ความอบอุ่นเกิดขึ้นได้จากการยิ้มแย้มแจ่มใสหรือคำกล่าวชม ไม่แสดงอาการเบื่อหน่ายหรือหันไปสนใจคู่ลีลาศของคนอื่น และอย่าทำตนเป็นผู้กว้างขวางช่างพูดช่างคุยกับคนทั่วไปในขณะลีลาศ
6. ควรลีลาศด้วยความสนุกสนานร่าเริง
7. ไม่ควรพูดเรื่องปมด้อยของตนเองหรือของคู่ลีลาศ
8. ไม่ควรเปลี่ยนคู่บนฟลอร์ลีลาศ
9. ควรลีลาศในรูปแบบหรือลวดลายที่ง่าย ๆ ก่อน แล้วจึงเพิ่มรูปแบบหรือลวดลายที่ยากขึ้นตามความสามารถของคู่ลีลาศ เพราะจะทำให้คู่ลีลาศรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่ควรพลิกแพลงรูปแบบการลีลาศมากเกินไปจนมองดูน่าเกลียด
10. ถือว่าเป็นการไม่สมควรที่จะร้องเพลงหรือแสดงออกอย่างอื่นในขณะลีลาศ หรือลีลาศด้วยท่าทางแผลง ๆ ด้วยความคึกคะนอง
11. ไม่ควรสอนลวดลายหรือจังหวะใหม่ ๆ บนฟลอร์ลีลาศ
12. ไม่ควรลีลาศด้วยลวดลายที่ใช้เนื้อที่มากเกินไป ในขณะที่มีคนอยู่บนฟลอร์เป็นจำนวนมาก
13. ในการลีลาศแบบสุภาพชน ไม่ควรแสดงความรักในขณะลีลาศ
14. การนำในการลีลาศเป็นหน้าที่ของสุภาพบุรุษ สุภาพสตรีไม่ควรเป็นฝ่ายนำ ยกเว้นเป็นการช่วยในความผิดพลาดของสุภาพบุรุษ เป็นครั้งคราวเท่านั้น
15. การให้กำลังใจ การให้เกียรติ และการยกย่องชมเชยด้วยใจจริง จะช่วยให้คู่ลีลาศเกิดความรู้สึกอบอุ่นและเชื่อมั่นในตนเองยิ่งขึ้น คู่ลีลาศที่ดี จะต้องช่วยปกปิดความลับหรือปัญหาที่เกิดขึ้นและมองข้ามจุดอ่อนของคู่ลีลาศ
16. ไม่ควรผละออกจากคู่ลีลาศโดยกระทันหัน หรือก่อนเพลงจบ

เมื่อสิ้นสุดการลีลาศ
1. สุภาพบุรุษต้องเดินนำหรือเดินเคียงคู่กันลงจากฟลอร์ลีลาศ และนำสุภาพสตรีไปส่งยังที่นั่งให้เรียบร้อย พร้อมทั้งกล่าวคำขอบคุณสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษอื่นที่นั่งอยู่ด้วย
2. เมื่อถึงเวลากลับ ควรกล่าวคำชมเชยและขอบคุณเจ้าภาพ (ถ้ามี)
3. สุภาพบุรุษจะต้องพาสุภาพสตรีที่ตนเชิญเข้างาน ไปส่งยังที่พัก

มารยาทในการเต้นลีลาศ


การเตรียมตัว
ก่อนออกลีลาศขณะลีลาศเมื่อสิ้นสุดการลีลาศ